สำหรับพื้นที่ทางธรรมชาติเมื่อฝนตกลงมาจะมีพืชพรรณที่ช่วยดูดซับกักเก็บน้ำเอาไว้และทำหน้าที่คายน้ำกลับไปยังชั้นบรรยากาศ น้ำส่วนที่ตกลงถึงพื้นดินจะซึมลงดินซะส่วนใหญ่และกลายเป็นน้ำใต้ดิน น้ำส่วนที่เหลือจะไหลตามผิวดินไปสู่แหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ใกล้เคียง เช่น แม่น้ำ ลำธาร บ่อน้ำ ทะเลสาบ ในขณะที่พื้นทีเมืองที่มีพืชพรรณน้อยกว่าจะไม่มีตัวช่วยในการดูดซับกักเก็บน้ำ หน้าดินส่วนใหญ่ที่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นดาดแข็งจะเป็นสิ่งกีดขวางไม่ให้น้ำซึมลงดินได้ จึงทำให้เกิดน้ำผิวดินเพิ่มขึ้นและระดับน้ำใต้ดินลดลง
เพื่อที่จะลดปริมาณน้ำไหลผิวดินอย่างเป็นระบบ ทางการออสเตรเลียมองว่าต้องเริ่มการจัดการตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ จึงได้ออกข้อกำหนดมาว่าในการพัฒนาพื้นที่ในระดับที่อยู่อาศัยต้องมีการออกแบบพื้นรับน้ำสำหรับรองรับน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่และอาจสร้างระบบที่จะนำน้ำหมุนกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อลดภาระที่จะเกิดแก่พื้นที่ส่วนกลาง
องค์ประกอบที่ช่วยในการกักเก็บ ชะลอ และซึมน้ำนี้เป็นได้ตั้งแต่ ถังเก็บน้ำฝน (Rain tank) สวนรับน้ำ (Rain garden) พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) บ่อตกตะกอน (Sediment ponds) ร่องระบายน้ำธรรมชาติ (Bio-Swale) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ การใช้พืชพรรณเข้ามาผสมผสานในการจัดการน้ำ จะเป็นการเลียนแบบธรรมชาติดั้งเดิมของวัฎจักรน้ำ พืชจะทำหน้าที่ช่วยดูดซับ คายน้ำ รวมไปถึงช่วยกรองตะกอนและมลพิษบางส่วน ทั้งนี้หากประชาชนซึ่งเว็บไซต์ทางการได้มีการรวบรวมรายเอียดการออกแบบ ก่อสร้าง และดูแลรักษาองค์ประกอบแต่ละชนิดไว้ให้สามารถเข้าไปดูเป็นแนวทางได้